มูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม ประเทศไทย

-A A +A

มูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งสาขาของมูลนิธิถานเซียง ในประเทศมาเลเซีย มูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม หรือ มูลนิธิถานเซียง ได้แบ่งตามความหมายออกเป็น 2 ส่วนคือ กลิ่นเทียนธรรม หรือถานเซียง หมายถึง ไม้จันทน์หอม ส่วนมูลนิธิ หมายถึง พุทธมูลนิธิ ภายใต้วิสัยทัศน์ แนวคิดของพระอาจารย์เหว่ย วู ซึ่งท่านได้ก่อตั้งสถานที่แห่งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ฉะนั้นมูลนิธิกลิ่นเทียนธรรมหรือถานเซียง จึงหมายถึง กลิ่นหอมของพระพุทธศาสนาที่แผ่กระจายออกไป ดั่งไม้จันทน์หอม ที่มีกลิ่นหอม ดึงดูดใจ หากใครได้สัมผัสกลิ่นก็จะรู้สึกดี มีความสุข หน้าที่หลักของมูลนิธิ คือ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และติดตามผลงานของวัดถานเซียง รัฐปีนัง และสาขาอื่นๆ ในประเทศมาเลเซีย

ผลงาน และ กิจกรรม ที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 ได้แก่
โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเริ่มดำเนินการเรียนการสอนเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราที่ไม่แพงมากนัก และนำเงินที่ได้ในส่วนนี้มาใช้จ่ายในกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้
จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ฟรี ซึ่งได้เริ่มทำการสอน เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 พระภิกษุสงฆ์ได้ให้ความสนใจมาก บางชั้นเรียนมีมากถึง 100 รูป หนังสือที่ใช้ทำการเรียนการสอน คือ The New Road parts 1,2,3 ซึ่งเขียนโดย ดร.อาภรณ์ พฤกษะศรี
โครงการจัดตั้ง วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งมูลนิธิได้รับเงินบริจาคครั้งแรกเพื่อการก่อตั้งวิทยาลัยฯ ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ประเทศไทย
จัดการเรียนการสอนภาษาจีน ซึ่งเริ่มดำเนินการสอน เมื่อวันที่ 2 เดือนเมษายน พ.ศ. 2545 ดำเนินการสอนโดย อาจารย์ สันทัด ปรัชญาปราดเปรื่อง ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี เวลา 19.00 – 21.00 น. หนังสือที่ใช้ในการเรียนการสอน คือ Speak Mandarin in 500 words. ของสำนักพิมพ์ The Overseas Chinese Library
จัดการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ โดยดำเนินการสอนทุกวันพุธ เวลา 19.00 – 21.00 น.
การจัดการเรียนการสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยเริ่มดำเนินการสอน เมื่อ วันที่ 5 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545
ร่วมกิจกรรม เยี่ยมชมบ้านพักคนชราทุกเดือน เริ่มดำเนินการ เมื่อวันที่ 2 เดือนมีนาคม
พ.ศ. 2545
จัดกิจกรรมเข้าค่ายฝึกทักษะภาษาอังกฤษสำหรับวัยรุ่น เริ่มดำเนินการครั้งแรก เมื่อ วันที่ 14-21 เดือนเมษายน พ.ศ. 2545
ดูแล บำรุงรักษาเว็บไซต์ของมูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม ในประเทศไทย และวัดถานเซียง
ในประเทศมาเลเซีย
ที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนหลักในการก่อตั้งมูลนิธิกลิ่นเทียนธรรมคือพระอาจารย์ เหว่ย วู (Wei Wu) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ส่วนคณะกรรมการของมูลนิธิประกอบไปด้วย คุณสรัญญา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ คุณทรงเกียรติ ธีรโรจน์วงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานมูลนิธิ คุณดิลก ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการกิตติมาศักดิ์ ส่วนเหรัญญิกกิตติมาศักดิ์ คือ คุณสมบัติ ธนพิชาติ ตลอดจนอาจารย์ที่ปรึกษาด้านการศึกษาคือ อาจารย์ดร.อาภรณ์ พฤกษะศรี และผู้ประสานงานในการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิคือ คุณปัทมา ตันตะบุตร
ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 มูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม (ถานเซียง) ประเทศไทย
ได้ก่อตั้ง วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติขึ้นที่ประเทศไทยโดยมีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่
ตั้งอยู่ เลขที่ 88 หมู่ 2 ถ.คลองแงะ-ควนสะตอ ต.ทุ่งหมอ อ.สะเดา จ.สงขลา 90240

คณะกรรมการมูลนิธิ

1. พระอาจารย์เหว่ย วู ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ
2. คุณพิศาล วัฒนะวงศ์กิตติ ผู้อำนวยการมูลนิธิ
3. คุณสรัญญา กุลวัฒนาวิมล ประธานมูลนิธิ
4. คุณทรงเกียรติ ธีรโรจน์วงศ์ เลขานุการกิตติมศักดิ์
5. คุณสมบัติ ธนพิชาติ เหรัญญิก
6. คุณเลิศศักดิ์ อธิการโกวิท สมาชิก
7. คุณกำจาย เรืองไมตรี สมาชิก
8. คุณโกสินทร์ จงโชติศิริกุล สมาชิก
9. คุณชาญชัย เตชะวิวัฒน์ สมาชิก
10. คุณชัยพร ดุลพินิจพัฒนา สมาชิก
11. คุณลิม ฮวด จู สมาชิก
12. ดร.อาภรณ์ พฤกษะศรี ที่ปรึกษามูลนิธิ
13. คุณปัทมา ตันตะบุตร ผู้ประสานงานมูลนิธิ
มูลนิธิกลิ่นเทียนธรรม ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2545 ณ สำนักงานใหญ่
เลขที่ 78-80 ซอยเซ็นทรัลพาร์ค หาดใหญ่ ประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ

• จัดให้มีการเรียนการสอนที่ครอบคลุมถึงเชิงลึกของพุทธศาสนาโดยไม่มีการแบ่งแยกนิกาย
• ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจแต่ละนิกาย รวมถึงความคิดและประเพณีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา
• เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมทางพุทธศาสนานานาชาติ โดยการสร้างสัมพันธภาพระหว่างศาสนา 3 นิกาย
คือ นิกายเถรวาท นิกายมหายาน และ นิกายวัชรยาน
• ส่งเสริมความสัมพันธ์ การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ โดยการเชื่อมโยงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ
• จัดการประชุม สัมมนา ระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสาร และความรู้ ที่เกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนา
• เป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างความชำนาญของพระภิกษุสงฆ์ และ ภิกษุณี ด้านการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งตีพิมพ์ที่ทันสมัย
• ส่งเสริมค่านิยมทางศีลธรรมและวัฒนธรรมที่ถูกต้องของชาวพุทธ ซึ่งเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์
• ส่งเสริมและสนับสนุนสังคมพุทธโดยผ่านหลักสูตรการศึกษาและการฝึกปฏิบัติ